ต้องบอกก่อนเลยว่าเรื่องของ “ภาษีป้าย” หากธุรกิจไหนไม่เข้าใจระวังจะได้จ่ายแพง เพราะตามกฎหมายไทยกำหนดเรื่องของภาษีเรื่องนี้ไว้หลายเงื่อนไขเหมือนกัน แต่มันก็ไม่มีอะไรยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจแน่นอน อย่างหนึ่งที่จะต้องเข้าใจก่อนเลยคือ ไม่ว่าป้ายร้านแบบไหนก็ย่อมต้องเสียภาษีและไม่ใช่แค่ขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะต้องจ่ายภาษีป้ายถูกหรือแพง มันจะอยู่ที่จำนวนอักษร ภาษาที่ใช้มาเกี่ยวข้องด้วยเหมือนกัน บทความนี้เลยชวนทุกคนมาเรียนรู้เข้าใจเรื่องภาษีของป้ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าของกิจการห้างร้านต่าง ๆ จะต้องรู้
เรียนรู้เรื่องภาษีป้ายคืออะไร
พร้อมจะลุยกับเรื่องของภาษีป้ายกันหรือยัง? ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเก็บก็เก็บตามใจได้ ทุกกิจการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งก็มีพระพราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 6 บอกเอาไว้ว่า “ป้าย” จะหมายถึงป้ายที่ใช้สำหรับแสดงบอกถึงยี่ห้อ แบรนด์ ชื่อ เครื่องหมายการค้า หรืออะไรที่บ่งบอกถึงการค้าของกิจการนั้น ๆ เพื่อการหารายได้ การโฆษณา ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบของป้ายลักษณะไหนก็ตาม เช่น ภาพ ตัวอักษร แกะสลัก เขียน เครื่องหมาย การจารึก หรือจะอย่างอื่นก็ตามที่ออกมาเป็นป้ายแล้วโดนเก็บภาษีหมด
แล้วภาษีป้ายคืออะไรกันแน่ อธิบายแบบง่ายสุดเลยคือ การจัดเก็บภาษีที่มาจากป้ายนั่นเอง จะเป็นป้ายที่บอกถึงชื่อ ยี่ห้อ แบรนด์ เครื่องหมายการค้า อะไรก็ตามที่เพื่อการหารายได้ รวมถึงโลโกแบรนด์บนสิ่งต่าง ๆ ด้วยนะ ยกตัวอย่างป้ายที่จะต้องจ่ายภาษีป้ายให้เห็นได้ชัดเผื่อใครยังมองภาพไม่ออก ก็จะเห็นป้ายหน้าร้าน ป้ายโฆษณา ป้ายผ้าใบ ป้ายบนทางด่วน ป้ายไฟ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นป้ายอื่น ๆ ก็ไม่รอดนะ ต้องจ่ายเช่นกัน
ภาษีป้ายใครเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจ่าย
คำตอบคือป้ายนั้น ๆ ใครเป็นเจ้าของ คนนั้นคือผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย แต่ถ้าป้ายไหนที่ผู้จัดเก็บหาเจ้าของไม่เจอรู้ไหมลำดับต่อไปคือใครคำตอบคือ ใครถือครองป้ายนั้นอยู่ก็จ่ายนั่นเอง สรุปแล้วต่อให้ไม่มีใครมายื่นแบบภาษีของป้ายตามกฎหมาย ก็จะต้องมีคนจ่ายอยู่ดี ยังไม่หมดเท่านี้นะ กรณีที่หาผู้ที่ถือครองไม่เจอแล้วจะเก็บภาษีป้ายกับใคร ไม่มีทางเลยที่จะเจ้าหน้าที่จะปล่อยมือหลุดไป เพราะถ้าเป็นแบบนั้นมีคนเลี่ยงและหนีแน่ ๆ ฉะนั้นแล้วคนที่จะต้องจ่ายคือเจ้าของที่ดิน เจ้าของอาคาร ที่ป้ายนั้น ๆ ตั้งอยู่นั่นเอง ไม่มีอะไรเข้าใจยากเลย แต่จริง ๆ ส่วนใหญ่มันก็จะจบที่เจ้าของป้ายแล้ว ทุกกิจการจะต้องทำเรื่องยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องจะได้ไม่ต้องเป็นภาระใครด้วย
หน้าที่ในการจัดเก็บภาษีป้ายคือหน่วยงานใด
สำหรับการจัดเก็บภาษีป้ายนั้นจะเป็นหน้าที่ของทางหน่วยงานส่วนท้องถิ่น อาจจะเป็น เทศบาล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล องค์กรปกครองท้องถิ่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งและได้ประกาศให้เป็นหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นตาม พรบ.ภาษีป้าย ก็จะมีดังนี้
- เขตสุขาภิบาล
- เขตเทศบาล
- เขต อบจ.
- เขตกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา
- เขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีกำหนด
อยู่ที่ว่ากิจการของเรานั้นตั้งอยู่ในเขตรับผิดชอบของหน่วยงานไหน เราก็จะโดนเก็บภาษีป้ายจากหน่วยงานนั้น ๆ เลย ซึ่งทางเราจะต้องแจ้งว่าจะมีการจัดทำป้ายด้วย อย่าปล่อยให้ทางหน่วยงานต้องตามหาเองมันจะทำให้หลาย ๆ อย่างยุ่งยาก ทำทุกอย่างตามกฎหมายกำหนดก็ไม่มีปัญหาอะไรตามมาแล้ว
อัตราภาษีป้ายเป็นอย่างไร
ภาษีป้ายนั้นจะถูกจัดเก็บโดยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นแต่ละที่เลย กิจการอยู่ในเขตไหนก็ต้องจ่ายให้เขตนั้น ๆ ส่วนเงินภาษีที่จ่ายไปจะเป็นงบประมาณที่นำกลับมาพัฒนาท้องถิ่นนั้นเหมือนเดิม และอัตราภาษีป้ายนั้นมีการปรับเพื่อให้เก็บได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 64 โดยจะมีการแยกออกเป็นแต่ละประเภทของป้ายมีอะไรบ้างดังนี้
- ป้ายประเภทที่ 1 ป้ายที่มีแต่ตัวอักษรภาษาไทยล้วน ๆ ก็จะมีอัตราภาษีแยกออกไปเป็น 2 แบบ คือจะเป็นชนิดป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่ ข้อความเปลี่ยนได้ ก็จะเป็นอัตราภาษีที่ 10 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร และหากเป็นป้ายอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาก่อนนี้จะเป็นอัตรา 5 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตรนั่นเอง
- ป้ายประเภทที่ 2 เป็นป้ายที่มีทั้งตัวอักษรภาษาไทยและภาษาต่างประเทศปนกันอยู่ นับหมดไม่ว่าจะเป็นการปะปนในภาพ ในเครื่องหมายอย่างอื่น อัตราการเสียภาษีป้ายก็จะต่างจากประเภทที่ 1 จะย่อยออกมาได้ 2 อย่างเช่นกันโดยจะแยกเป็นตามนี้
- ป้ายแบบแรกนั้นจะเป็นป้ายที่มีข้อความ มีเครื่องหมาย ภาพที่เคลื่อนที่ เคลื่อนไหวได้ ป้ายที่ข้อความเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย เป็นภาพได้ ตัวนี้จะมีอัตราภาษีป้ายที่ 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- สำหรับข้อนี้ก็จะนับพวกป้ายต่าง ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ในข้อ 1 ที่กล่าวมา อัตราภาษีจะถูกกว่าอยู่ที่ 26 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายประเภทที่ 3 จะเป็นป้ายที่ไม่มีตัวหนังสือตัวอักษรภาษาไทยเลยแม้แต่ตัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นในตัวป้าย ในภาพ ในเครื่องหมายอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่ประเภทนี้ก็จะนับป้ายที่มีตัวอักษรไทยแค่บางจุด หรืออยู่ใต้ อยู่ต่ำกว่าตัวภาษาต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีป้ายประเภท 3 จะดูเงื่อนไขตามนี้
- อย่างแรกจะเป็นเหล่าป้ายที่มีทั้งข้อความ ภาพ เครื่องหมายที่เคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนข้อความเป็นข้อความ เป็นภาพ เป็นเครื่องหมายได้ จะถูกจัดเก็บภาษีป้ายในอัตรา 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- และในส่วนอัตราภาษีนี้จะเก็บเหล่าป้ายที่นอกเหลือจากข้อแรก ได้เสียในอัตรา 50 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
สำหรับอัตราภาษีป้ายตามกฎหมายก็ตามนี้แต่มีอีกหนึ่งสิ่งที่จะต้องรู้ด้วยคือ หากมีการคำนวณภาษีออกมาแล้ว เราจะต้องจ่ายไม่ถึง 200 ก็ต้องจ่ายเป็น 200 อยู่ดีนะ ซึ่งใครที่เป็นเจ้าของป้ายหรือผู้ที่จะต้องเสียตามลำดับนั้นต้องทำการยื่นแบบ เพื่อแสดงรายการเสียภาษีแบบ ภ.ป.1 ภายใน 31 มี.ค. ของทุกปี และหากมีการติดป้ายใหม่ มีการเปลี่ยนอะไรก็ต้องยื่นแบบอีกใน 15 วัน โดยเริ่มจากวันที่ทำใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงเลย เมื่อได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี หรือ แบบ ภ.ป.3 แล้ว จะต้องชำระภาษีป้ายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสาร หากเกิน 3000 บาท สามารถขอผ่านได้ด้วยนะ ไม่เกิน 3 งวด
บทลงโทษเมื่อไม่ชำระภาษีป้ายคืออะไร
สำหรับการลงโทษตามกฎหมายหากไม่มีการชำระภาษีป้าย หรือไม่มีการยื่นแบบภาษีก็จะดูเป็นกรณีไปว่าผิดตรงข้อไหนบ้าง เพื่อไม่ให้พลาดเรื่องนี้ควรจะต้องรู้เอาไว้ ใครที่เป็นเจ้าของกิจการเรื่องนี้จะปล่อยผ่านไม่ได้เลย มาดูกันว่าการพิจารณาบทลงโทษนั้นมีแบบไหนบ้าง
- การไม่ยื่นแบบภาษีป้ายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 31 มี.ค. ของทุกปี เจ้าของป้ายที่ไม่ยื่นจะต้องเสียเงินเพิ่ม 100 ละ 2 ต่อเดือน ของค่าภาษีแต่ละป้าย
- เมื่อได้รับหนังสือประเมินภาษีแล้วไม่ทำการชำระตามที่กำหนด หรือเลยระยะเวลาชำระแล้วต้องเสียค่าปรับเหมือนกัน 100 ละ 10 ของค่าภาษี
- ทำการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีป้ายแต่ดันยื่นไม่ตรง สิ่งที่ยื่นไม่เป็นความจริง ทำให้การจ่ายภาษีขาดหาย ก็ต้องโดนปรับอยู่ดี 100 ละ 10 ของค่าภาษีที่จะต้องจ่าย
อย่างไรก็ตามการเลี่ยงภาษี หนีภาษี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้บทลงโทษจะไม่ได้หนักอะไรมาก แต่มันก็ทำให้ทั้งเสียเงินและเสียเวลาได้เหมือนกัน แถมยังเสียชื่อเสียงอีกด้วย กิจการใด ๆ ก็ตามที่ประกอบการค้าแล้วมีการทำป้าย ก็จะต้องยื่นแบบภาษีป้ายเพื่อชำระให้ทันและถูกต้อง
ป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีมีหรือไม่
ทุกกิจการ ทุกธุรกิจที่ทำการค้า หากมีการจัดทำป้ายต่าง ๆ ยังไงก็ต้องเสียภาษีป้ายตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ก็ยังมีป้ายหลายประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษีนะ เราจะยกตัวอย่างมาบางป้ายเท่านั้น เช่น ป้ายที่อยู่ในโรงมหรสพและบริเวณนั้น ๆ เพื่อการโฆษณา ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ป้ายที่ทำเป็นครั้งคราว ป้ายที่อยู่บนคนหรือสัตว์ ป้ายที่อยู่ภายในอาคารกิจการ แต่ถ้านอกอาคารต้องเสียนะ แต่ถ้าในอาคารขนาดป้ายต้องไม่เกิน 3 ตารางเมตร ป้ายจากส่วนกลางราชการต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับใครที่จะทำป้ายอย่าลืมศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วนเสมอ
บทสรุป
การเสียภาษีเป็นสิ่งที่จะต้องทำหากเข้าเงื่อนไข เรื่องของภาษีป้ายเองก็เป็นการช่วยพัฒนาท้องถิ่นอย่างหนึ่ง เจ้าของกิจการควรรับผิดชอบให้ได้ ทำป้ายแล้วก็ต้องจ่ายภาษีเป็น อย่าลืมยื่นแบบภาษีและชำระให้ทันกำหนดเพื่อเลี่ยงการโดนค่าปรับ สรุปแล้วไม่ว่าจะธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ หากทำป้ายก็ต้องจ่ายภาษีนะ ส่วนอัตราภาษีที่จะต้องเสียก็ตามเงื่อนไขที่ระบุข้างต้นเลย จะใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ พิจารณาตามที่จ่ายไหวกันได้เองของแต่ละธุรกิจ แต่เมื่อยื่นแบบไปแล้วจะต้องยื่นให้ตรงพอได้รับเอกสารการประเมินภาษีจะต้องจ่ายให้ทัน มันก็มีเท่านี้เองไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย📌Station Accout – เรารับทำบัญชีมาตรฐานสูงสุด™